วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อริยมรรคมีองค์แปด


อริยมรรคมีองค์แปด 

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ นี้เอง

องค์แปดคือ
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ, การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ, ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ

1. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์, ความรู้ในเหตุให้ เกิดทุกข์, ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความรู้ใน หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด
นี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

2. ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม, ความดำริในการไม่พยาบาท, ความดำริในการไม่เบียดเบียน
นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

3. ภิกษุทั้งหลาย ! การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้น จากการพูดยุให้แตกกัน, การเว้นจากการพูดหยาบ, การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา

4. ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์, การเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, การเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ.

5. ภิกษุทั้งหลาย ! การเลี้ยงชีพชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จ ความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ 
นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ

6. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อม พยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อม ตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอัน เป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อม พยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อม ตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยัง ไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อม ปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อ ความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรม ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ

7. ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็น กายในกายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความ ไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึก ตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจใน โลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้
นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ

8. ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; เพราะวิตกวิจารรำ งับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็น เครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่; เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มี การอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่; เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัส ในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่
นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทาง เป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

ที่มา: หนังสือพุทธวจน หมวดธรรม เปิดรรมที่ถูกปิด "ตามรอยธรรม"

1 ความคิดเห็น:

  1. กราบนอบน้อมบูชาพระธรรมของพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าฯ

    ตอบลบ