ตลาดบริเวณพระธาตุ
เช้าวันใหม่เราออกเดินทางลงจากพระธาตุตอนแปดโมงเช้าและเดินทางไปวัดต่อไป
หลังจากลงถึงตีนเขาก็นั่งรถต่อเพื่อเข้าหงสาวดี ระหว่างทางหม้อน้ำเดือดอีกแล้วจ้าต้องพักรถครู่นึง เรามานั่งรอในร้านขายของข้างทาง
และแล้วเราก็มาถึงหงสาวดี โดยที่แรกเราจะไปคือพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนอง โดยเสียค่าเข้าคนละหนึ่งหมื่นจ๊าด สามารถเข้าได้ทุกที่ในหงสาวดี
3.พระราชวังกัมโพชธานี หรือ พระราชวังพระเจ้าบุเรงนอง
เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ (พระธาตุมุเตา) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 ซึ่งเป็นปีที่ 15 ของการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด พระองค์ตัดสินพระทัยเผาพระราชวังเก่าไปเนื่องจากมีการกบฏ พระราชวังกัมโพชธานีสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานจากประเทศราชต่าง ๆ และพระองค์โปรดให้ใช้ชื่อประตูต่าง ๆ ทั้งหมด 20 ประตู ตามชื่อของแรงงานประเทศราชที่สร้าง เช่น ประตูทางตอนเหนือปรากฏชื่อ ประตูโยเดีย (อยุธยา) ประตูตอนใต้ชื่อ ประตูเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีพระตำหนักของพระสุพรรณกัลยา องค์ประกันที่ตกเป็นเชลยและกลายเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์ด้วย
พระราชวังกัมโพชธานีถูกเผาจนเหลือแต่เพียงซาก หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยกบฏยะไข่ พร้อมๆ กับอาณาจักรตองอูที่เคยเรืองอำนาจเสื่อมลง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลพม่าได้ขุดค้นพบซากของพระราชวังที่เหลือเพียงแค่ตอไม้ที่โผล่พ้นดินออกมาเท่านั้น และได้มีการเร่งสร้างพระราชวังจำลององค์ใหม่ขึ้นมา ฉาบด้วยสีทองทั้งหลัง ทั้งที่พื้นดินบริเวณโดยรอบได้ขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเชื่อว่ายังมีอยู่อีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมา แต่ได้ถูกทางการสร้างพระราชวังทับลงไปแล้ว แต่ซากไม้ที่ใช้สร้างพระราชวังแต่ครั้งอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่ได้ถูกจัดแสดง ซึ่งไม้แต่ละท่อนมีตัวอักษรจารึกอยู่ว่าเป็นผลงานของเมืองใด ภายในพระราชวัง มีพระราชบัลลังก์ที่มีชื่อว่า "บัลลังก์ภุมรินทร์" หรือ "บัลลังก์ผึ้ง" ซึ่งสร้างขึ้นมาจากคติเรื่องจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
ปัจจุบัน พระราชวังกัมโพชธานีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของหงสาวดีและประเทศพม่า
พระราชวังพระสุพรรณกัลยา
4.พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ หรือพระธาตุมุเตา
เป็นพระมหาธาตุเจดีย์สำคัญที่อยู่ในเมืองพะโค(หงสาวดี) เป็นเจดีย์โบราณที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยมอญเรืองอำนาจ มีการบูรณะและต่อเติมอีกหลายครั้ง ภายในเจดีย์บรรจุพระเขี้ยวแก้วไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าราชาธิราช และต่อมาในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ได้โปรดให้มีการหล่อระฆังจารึกไว้ที่ฐาน
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ มีชื่อเรียกในภาษามอญและคนไทยก็คุ้นเคยกับชื่อนี้คือ พระธาตุมุเตา แปลว่า "จมูกร้อน" ทั้งนี้เพราะกล่าวกันว่าพระมหาธาตุองค์นี้สูงมาก จนต้องแหงนหน้ามองต้องกับแสงแดด ทั้งนี้เนื่องจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอนั้นเป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในพม่า
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ใช้เป็นที่ทำพระราชพิธีเจาะพระกรรณของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เมื่อครั้งพระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ภายใต้วงล้อมของทหารมอญหลายหมื่นนายที่เป็นศัตรู แต่ก็ไม่อาจทำอะไรพระองค์ได้ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สามารถยึดพะโคเป็นราชธานีแห่งใหม่ได้สำเร็จ ในรัชกาลต่อมา คือ พระเจ้าบุเรงนองได้มีการสร้างฉัตรถวายเพิ่มเติมอีกหลายชั้น จนพระมหาธาตุสูงขึ้นอีกหลายเท่า และทรงถอดมณีที่ประดับยอดมงกุฎของพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชาสูงสุด อีกทั้งกล่าวกันว่าก่อนที่พระองค์จะออกทำศึกคราใด จะทรงมานมัสการพระมหาธาตุนี้ก่อนทุกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทำการสักการะก็ยังปรากฏอยู่ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยกทัพมาตีพะโคก็ได้เสด็จมานมัสการด้วย
ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนพระมหาธาตุได้พังทลายลงมา หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณะ แต่ซากพระมหาธาตุองค์เดิมก็ได้มีการจัดแสดงไว้ในที่เดิม
5.วัดพระพุทธไสยาสน์ชเตาเลียว
พระพุทธไสยาสน์ชเตาเลียว เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์อันดับสองของเมืองหงสาวดี รองจากพระมหาธาตุมุเตา และเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาว 181 ฟุต สูง 50 ฟุต สร้างโดยพระเจ้าเมงกะติปะ พ.ศ.1537 ในสมัยมอญเรืองอำนาจ มีพุทธลักษณะงดงาม โดยจะวางพระบาทเหลื่อมพระบาท ต่างจากพระพุทธไสยาสน์ของไทยที่นิยมวางพระบาทเสมอกัน เล่าขานว่าเป็นพระรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ด้านหลังพระองค์มีภาพวาดเล่าขานตำนานว่า มีพระราชาองค์หนึ่งไม่ศรัทธาพุทธศาสนา ทรงลุ่มหลงบูชายักษ์ตนหนึ่งขนาดปั้นรูปไว้กราบไหว้ วันหนึ่งขณะที่พระราชาเสด็จประพาสป่าพร้อมพระโอรส และพระโอรสไปพบสาวบ้านกำลังอาบน้ำอยู่ในลำธารก็เกิดความหลงรัก ถึงกับพากลับเข้าวัง แต่สาวเจ้าอันเชิญพระพุทธรูปไปบูชาในวังด้วย ทำให้พระราชากริ้วมาก ถึงขั้นสั่งให้ทหารจับพระโอรสและคนรักมัดรวมกันเพื่อจะประหาร แต่ชาวบ้านได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีจริงก็ขอให้นางแคล้วคลาด ปรากฏว่าเชือกขาดโดยพลัน ขณะที่รูปปั้นยักษ์แตกกระจาย พระราชาถึงกับทรงหันกลับมานับถือพุทธศาสนา และขอไถ่บาปด้วยการสร้างพะพุทธไสยาสน์เป็นเครื่องเตือนสติ
หลังจากที่พระเจ้าอลองพญาทรงปราบมอญราบคาบ เมืองหงสาวดีก็ถูกทิ้งร้าง พระพุทธไสยาสน์ไม่ได้รับการดูแลจนกลายเป็นกองอิฐจมอยู่ในโคกดิน จนถึงปี พ.ศ.2424 เมื่ออังกฤษสร้างทางรถไฟสายพม่า จึงขุดพบพระนอนองค์นี้ จากนั้นปี พ.ศ.2491 หลังจากพม่าได้รับเอกราช ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างจริงจัง และได้ทาสีและปิดทองลงชาดใหม่ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
6.วัดเจดีย์ไจ๊ปุ่น
มีอายุกว่า 500 ปี เป็นวัดที่สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ไปทุกทิศ แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ มีตำนานเล่าว่า พระราชธิดาทั้งสี่องค์ของกษัตริย์มอญที่อุทิศตนแด่พุทธศาสนา จึงสร้างพระพุทธรูปแทนตนเองและได้สาบานไว้ว่าจะไม่ข้องแวะกับบุรุษเพศ ต่อมาน้องสาวคนสุดท้อง กลับพบรักกับชายหนุ่มและแต่งงานกัน จึงเกิดอาเพศฟ้าผ่าพระพุทธรูปที่แทนตัวของน้องสาวคนสุดท้องพังทลายลงมา จนต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่ตามที่เห็นในปัจจุบัน โดยพระพุทธรูปองค์นี้จะมีลักษณะแตกต่างจากองค์อื่นๆ คือจะเป็นศิลปะแบบพม่า
7.พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือ เจดีย์ทองแห่งเมืองดากองหรือตะเกิง(ชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง) แห่งลุ่มน้ำอิระวดี มหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า มีความสูงถึง 326 ฟุต
มหาเจดีย์ชเวดากอง มีเรื่องเล่าว่าพระมหากษัตริย์มอญคือพระเจ้าโอกะลาปะ ทรงเลื่อมใสในศรัทธาพระพุทธศาสนา ได้ทรางก่อสร้างองค์พระเจดีย์ชเวดากองขึ้นมาเมื่อกว่า 2000 ปี ก่อน ต่อมาพระมหากษัตริย์มอญและพม่าแทบทุกพระองค์ได้ถือเป็นพระราชภารกิจในการก่อเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 326 ฟุต กว้าง 1355 ฟุตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสมัยพระนางซินสอบู หรือนางพระยาตะละแม่ท้าวเจ้า กษัตรีมอญผู้ครองเมืองหงสาวดี ได้ทรงริเริ่มธรรมเนียมบริจาคทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองในการบูรณะพระมหาเจดีย์ นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1996 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตยโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา) จนกลายเป็นพระราชพิธีที่ปฎิบัติสืบต่อกันมา
วันนี้มหาเจดีย์ชเวดากองมีทองคำโอบหุ้มอยู่เป็นน้ำหนักถึง 1100 กิโลกรัม โดยช่างชาวพม่า จะใช้ทองคำแท้ตีเป็นแผ่นปิดองค์เจดีย์ไว้รอบองค์ หากสังเกตในรายละเอียดจะเห็นรอบต่อของแผ่นทองคำ ซึ่งมิได้ผสานเป็นเนื้อเดียว แต่จะเป็นแผ่นๆ มาเรียกกัน ครั้งเมื่อแผ่นทองหมองคล้ำก็จะถอดหมุดแล้วแกะแผ่นทองออกมาขัดล้างปีละครั้งเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมาตลอด
สุวรรณฉัตร หรือทององค์ใหญ่บนยอดเจดีย์ชเวดากองเคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่า 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2317 รัชสมัยพระเจ้าฉินบูชิน ทรงถวายสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ รูปทรงพม่า แทนองค์เดิมที่เป็นรูปทรงมอญ โดยโปรดฯให้ระฆังเงินระฆังทองและทองแดง รวม 600 ใบ และมีเพชรประดับโดยรอบด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ต่อมาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเหตุให้สุวรรณฉัตร หักตกลงมา จึงมีการบูรณะครั้งที่สองในปี พ.ศ.2414 รัชสมัยพระเจ้ามินดง โดยทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างฉัตรใหม่ จนร่ำลือกันว่า ยอดฉัตรแห่งชเวดากองนั้นประดับประดาด้วยเพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 62000 ปอนด์ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะยอดเจดีย์ประดับระฆังใบเล็กถึง 5000 ใบ ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2542 พุทธศาสนิกชนชาวมอญพม่าได้พร้อมใจกันเปลี่ยนสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ ถวายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาแห่งแหนมามืดฟ้ามัวดิน ร่วมทำบุญ ถวายปัจจัย บางคนถึงกับถอดแหวนเพชร สร้อยทองเครื่องประดับอัญมณีนานาชนิดประดับสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ด้วยแรงศรัทธาสูงส่ง
รอบๆองค์พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นลานกว้างรองรับแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนได้จำนวนมาก บริเวณทางขึ้นทั้งสี่ทิศจะมีวิหารโถง สร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระประธานสำหรับให้ประชาชนมากราบไหว้บูชา เพราะชาวมอญและชาวพม่าถือการกราบไหว้บูชาเจดีย์ชเวดากองเป็นนิตย์ จะนำมาซึ่งบุญกุศลอันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล บ้างนั่งทำสมาธิเจริญสติภาวนานับลูกประคำ และบ้างเดินประทักษัณรอบองค์เจดีย์
นอกจากนี้รอบองค์เจดีย์ยังมีพระประจำวันเกิดประดิษฐานทั้งแปดทิศรวม 8 องค์ หากใครเกิดวันไหนก็ให้ไปสรงน้ำพระประจำวันเกิดตน จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
หลังจากไหว้จบหนึ่งวัน วันนี้เราพักที่โรงแรม Clover City Hotel ในย่างกุ้งค่ะ เช้าวันสุดท้ายเราเริ่มออกจากโรงแรมแปดโมงเช้าและเริ่มไปไหว้พระที่
8.เทพทันใจ (นัตโบโบยี) ณ เจดีย์โบตาทาวน์
เจดีย์โบตาทาวน์ ซึ่งเจดีย์แห่งนี้มีเทพทันใจคอยคุ้มครอง เชื่อกันว่าจะทำให้สมปรารถนารวดเร็วทันใจ เชื่อว่าถ้ากระซิบขออะไรแล้วจะสมหวัง เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าให้การสักการะและนับถือเป็นอย่างมาก รวมไปถึงคนไทยเองก็ยังให้ความเคารพและนับถือด้วยเช่นกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวและชาวพม่านิยมไปกราบไหว้มากที่สุด
การนับถือ “นัต” เป็นความเชื่อของคนพม่า นัตเป็นจิตวิญญาณของคนตายที่อยู่ระดับสูงกว่าผีและต่ำกว่าเทพ จึงไม่ใช่ทั้งผีและเทพ ส่วนใหญ่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้สร้างคุณงามความดี หรือวีรกรรมที่น่าประทับใจเอาไว้ โดยมากนัตมีหน้าที่ปกปักรักษาเมืองหรือสถานที่สำคัญๆ เช่น เจดีย์ เป็นต้น คำว่า “โบโบยี” (โบโบจี) นั้นไม่ใช่ชื่อเฉพาะของนัตองค์ใดองค์หนึ่ง แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “โบโบยี” คือ นัตผู้ชายที่เป็นที่เคารพนับถือ ประมาณพ่อปู่ เจ้าพ่อหรือเทพาอารักษ์ของไทยเรานั้นเอง ด้วยเหตุนี้ทางพม่าจึงต้องมีชื่อสถานที่ที่นัตองค์นั้นๆ คุ้มครองอยู่ประกอบด้วยเสมอ
ชาวพม่าความเชื่อว่า "เทพทันใจ" เป็นนัตที่ปกปักรักษาพระเกศธาตุในเจดีย์โบตาทาวน์ เป็น ๑ ในนัตหลวง ๓๗ ตน ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือมาก เป็นนัตที่ชาวพม่าและชาวไทย นักการเมือง ศิลปิน ดารา นักธุรกิจ พ่อค้าวาณิช เศรษฐีพม่า เศรษฐีไทย ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมากมาย เดินทางไปสักการะที่พม่าอย่างล้นหลาม ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ใดได้สักการบูชาหรือขอพรสิ่งใดก็ตามจะสัมฤทธิผลสมปรารถนาทันใจ สำเร็จโดยเร็ว ฉับพลันทันใด ทั้งเรื่องการเงิน การงาน ความรัก ค้าขาย โชคลาภ โดยเฉพาะ เรื่องเงินทอง บารมีแรง เสริมดวงให้ชีวิตราบรื่นในทุกๆด้าน
การบูชาเทพทันใจ นิยมใช้มะพร้าว กล้วยนากสีแดง เป็นเครื่องบูชา เพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามของชีวิต บางครั้งก็จะประกอบด้วยช่อใบไม้ที่เรียกว่า ใบชัยชนะ และฉัตร ตุงหรือธงกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลเช่นกัน
ส่วนการอธิษฐานขอพรต่อเทพทันใจ
มีเคล็ดลับว่าต้องขอเพียงข้อเดียวเท่านั้น เพื่อพลังกล้าแข็งในการถวายเครื่องเซ่น หลังจากนั้นให้ถวายธนบัตรเสียบไว้ที่มือของท่าน ซึ่งอยู่ในกิริยายืนชี้นิ้วไปข้างหน้า อยากจะถวายเท่าใดก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ต้องให้มีจำนวนธนบัตรมากกว่า ๑ ฉบับ หลังจากนั้นก็เข้าไปยืนให้หน้าผากของเราติดกับนิ้วมือของท่าน แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้ง เพียงข้อเดียวเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนใจ เสร็จแล้วจึงนำธนบัตรที่ถวายไว้คืนกลับมา ๑ ฉบับ เพื่อเอากลับไปเป็นเงินขวัญถุงให้มีโชคมีลาภต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดูแลศาลยังอาจจะให้เรานำกล้วยสุกที่คนมาถวายไว้ก่อนหน้านั้น เอาไปกินเพื่อเป็นมงคล
คาถาบูชา เทพทันใจ (นะโม ๓ จบ ) เอหิ สักกะ มหานัทโป๊ะโป๊ะจีโปตะถ่องสิทธิมัตถุ อิทังพะลัง เอตัสสะมิงรัตตะนัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เทวานัง ประสิทธิลาโภ ชยโยนิจจัง วันทามิสัพพะทา สวาโหม
สวดมนต์บูชาขอพรองค์เทพทันใจนัตโบโบยี จะเปลี่ยนชะตาชีวิตท่านไปตลอดกาล ท่านจะมั่งคั่ง ร่ำรวย จะประสบความสำเร็จ สมปรารถนาทุกสิ่ง บันดาลโชคลาภ มหาโภคทรัพย์ ปัดเป่าปัญหาอุปสรรคให้ผ่านพ้น เรื่องเมตตามหาเสน่ห์ องค์เทพทันใจก็แรงสุดใจ ใครก็รัก ใครก็เมตตา
นั่งรถเจอวัดและเจดีย์มากมาย ถ่ายภาพระหว่างทาง
9.พระพุทธไสยาสน์เจาทัตจี
พระนอนตาหวาน เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในพม่า
วัดนี้ตั้งอยู่บนถนนชเวกองได (Shwe Gon Taing หรือ Shwe Gon Dine ตามคำอ่าน) เขตตามุย (Tamwe Township) ไม่ไกลจากดาวน์ทาวน์ย่างกุ้งเท่าไหร่ ด้านนอกก็มีร้านขายของที่ระลึกสองสามร้าน ทางเข้าด้านนี้จะเป็นด้านที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มากันเพราะไม่ต้องเดินถอดรองเท้ากันมาแต่ไกล ลงรถปุ๊บ ก็สามารถเข้าวิหารได้ทันที
ก่อนเข้าตัววิหาร ก็ต้องถอดรองเท้าฝากไว้ด้านหน้าก่อน ที่วัดนี้มีข้อดีคือ ไม่มีคนมารุมขายของไหว้พระ มีเคาน์เตอร์ขายดอกไม้อยู่เพียงแผงเดียวเท่านั้น
ผ่านประตูเข้าไปก็เห็นพระนอนเจาทัตยีองค์ใหญ่และยาวมาก วิหารเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่โตรับองค์พระ
พระนอนเจาทัตยีนี้ องค์ดั้งเดิมสร้างขึ้นในปี 1907 ต่อมาเสียหายเนื่องจากสภาพอากาศ จึงทำลายทิ้งในปี 1956 และสร้างขึ้นใหม่ในปี 1966 องค์พระยาวทั้งสิ้น 65 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าพระนอนที่เมืองหงสาวดี หรือบาโก องค์พระมีลักษณะแบบพระพม่าคือหน้าหวาน และที่โดดเด่นขององค์นี้คือตาหวาน สีสันหน้าตาตลอดจนสีเล็บสดใสทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นความประณีตของคนสร้างอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรอยพับ การทับซ้อนของจีวร และที่งดงามเก๋มากคือลวดลายอักขระบนฝ่าเท้า
ทำบุญปล่อยนก
10.พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ วัดงาทัตจี
วัดงาทัตจี ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆ กับวัดเจ๊าทัตจีหรือวัดพระตาหวาน เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีความสูงประมาณตึก 5 ชั้น ทรงเครื่องกษัตริย์ จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยยะตะนะโบง ดูสวยแปลกตา
11.เจดีย์กาบาเอ
Kaaba Aye Pagoda นั้นตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง โดยเป็นเจดีย์ไม่ได้มีความเก่าเก่มากเท่าใดนักเล่นกลับมาความสำคัญต่อพุทธศาสนาสมัยใหม่ก็เนื่องมาจากว่า พระเจดีย์แห่งนี้เป็นสถานที่รำลึกถึงการประชุมประสภาสงฆ์ระดับโลก ครั้งที่ 6 พร้อมทั้งยังเป็นสถานที่ชำระพระไตรปิฎกนั่นเอง ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1952 โดยความคิดของนายอูนุ ซึ่งดำรงตำเหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าในขณะนั้น หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษไม่นานนัก
โดยการก่อสร้าง พระเจดีย์กาบาเอ นั้นก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่พระภิกษุรูปหนึ่งได้เดินทางมามอบลำไม้ไผ่ที่เต็มไปด้วยจารึกให้กับท่านอูนุ โดยเล่ามามีชีปะขาวผู้หนึ่งนำมาฝากไว้กับท่านแล้วกำชับให้นำมามอบให้กับท่านอูนุ ซึ่งท่านก็ได้อ่านข้อความบนลำไม้ไผ่ จากนั้นจึงมีการดำริที่จะสร้าง พระเจดีย์กาบาเอ ซึ่งกำหนดตำเหน่งเป็นทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้งประมาณ 15 กิโลเมตร โดยใช้เป็นที่สำหรับสังคายนาพระตรีปิฎกในปี ค.ศ. 1954 ถึง 1956 ซึ่งภายในองค์เจดีย์นั้นบรรจุพระบรมธาตุ ของพระอรหันต์สาวกองค์สำคัญสององค์ของพระพุทธเจ้าไว้ด้านใน โดยลักษณะของเจดีย์เเห่งนี้จะมีความสูงเเละเส้นผ่านศูนย์กลางเป็นตัวเลขเดียวกันคือ 34 เมตร
12.วัดพระเขี้ยวแก้วจุฬามณี หรือ วัดชเวตอเมียต
(Swe Taw Myat, Buddha Tooth Relic Pagoda) วัดนี้พม่าใช้สถาปัตยกรรมโบราณพุกาม โดยรวมเอาสถาปัตยกรรมของพม่าในยุคต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน องค์เจดีย์เป็นทรงปราสาทแปดเหลี่ยม ปลายยอดเจดีย์ประดับด้วยทองคำแท้ภายในองค์เจดีย์ประดับตกแต่งอย่างวิจิตร กลางโถงเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อครั้งอัญเชิญมาจากประเทศจีน เป็นองค์เดียวกับที่เคยอัญเชิญมาที่พุทธมณฑล
ระหว่างทางไปวัดสุดท้ายเราแวะดูช้างเผือกระหว่างทางไปวัดพระหินขาว
13.วัดพระหินขาว
วัดพระหินขาว (Lawka Chantha Abaya) นั้นตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง เมืองหลักของพม่า โดยเป็นวัดที่สร้างขึ้นไม่นานนัก เเต่กลับเป็นที่สนใจของบรรดาชาวพม่าเเละนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะว่ามันเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่ถือว่ามีความสำคัญเเละสวยงามของพม่ายุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง
โดยพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ใน วัดพระหินขาว นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ทำมาจากหยกขนาดใหญ่ ซึ่งชาวพม่าจะเรียกหยกว่าหอนขาว โดยมันมีความสูงกว่า 37 ฟุต เเละมีความกว้าง 24 ฟุต ส่วนน้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 600 ตัน เป็นพระพุทธรูปเเบบประทับนั่ง โดยที่พระหัตถ์ขวาจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากสิงคโปร์เเละลังกา โดยที่จะมีพระพุทธบาททั้งซ้ายเเละขวาจัดเเสดงอยู่ที่ด้านหลังอีกด้วย โดยจัดทำจากเศษหยกที่เหลือในการจัดสร้างพระพุทธรูป โดยพระพุทธรูปองค์นี้จัดสร้างสมัยนายพลตานฉ่วยเรืองอำนาจ ซึ่งมีการขุดพบหยกขนาดใหญ่ที่รัฐยะไข่ จึงมีการส่งไปเเกะสลักที่เมืองมัณฑะเลย์ก่อนจะนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเเห่งนี้
และแล้วทริปเราก็มาถึงตอนสุดท้าย ขอสรุปว่าได้อะไรบ้างจากการมาทำบุญที่พม่า จากการมาพม่าทำให้ได้ทราบว่าพระของที่นี่นั้นแตกต่างจากที่ไทยมาก เริ่มจากพระที่ไทยแตกต่างจากที่พม่ามาก ผู้คนชอบทำบุญเหมือนกัน แต่ที่พม่าเขาจะมาสวดมนต์นั่งสมาธิกันอย่างจริงจัง ไม่ได้สนใจว่ารอบข้างจะเสียงดัง คนเดินชนกันเป็นว่าเล่นต่ก็ไม่เห็นว่ามีการโกรธหรือโมโห ถ้าเป็นที่ไทยนี้คงด่ากันให้วุ่นวายแล้ว
บ้านเมืองที่นี่เทียบกับบ้านเราก็เหมือนต่างจังหวัดไกลๆ แดดร้อน ฝุ่น ขยะ สุขอนามัยยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทุกอย่างถือว่าเป็น Real จริง สด เหมือนได้ย้อนชีวิตกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว (ย้อนไกลมาก ตอนนั้นยังไม่เกิดเลย)
การมาทำบุญเรามาด้วยใจ ด้วยความตั้งใจ อยากจะลองเจออะไรใหม่ พระพุทธศาสนาของประเทศอื่นเป้นอย่างไร ถือว่าได้มาเปิดหูเปิดตามาก ถ้ามีโอกาสจะกลับมาอีก ไหว้ให้ครบทั้งห้ามหาเจดีย์สถาน ขาดอีกแค่สองที่ อยู่มัณฑเลย์โน่นเลย
แล้วพบกันใหม่ทริปหน้า
สวัสดี
|