วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558
การสวดมนต์ก็ทำให้บรรลุหลุดพ้นได้
วิมุตตายตนสูตร
การที่เราทั้งหลายมีการทำวัตรและเจริญพระพุทธมนต์ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการเสียเวลา บางคนก็อาจคิดว่าอันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสมถะอะไรทำนองนี้ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะว่าการไหว้พระทำวัตรเจริญพระพุทธมนต์ ที่เราทั้งหลายทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่ง เรียกว่า "การเจริญพระกรรมฐานหมู่"
การเจริญพระกรรมฐานหมู่ คือการเจริญร่วมกันหลายๆรูป และการไหว้พระทำวัตรเจริญพระพุทธมนต์นี้ เป็นเหตุปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิสมบัติ มรรคผล พระนิพพานได้เหมือนกัน ดังมีคำกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร ซึ่งปรารภเหตุที่บุคคลจะได้บรรลุสามัญญผลนั้นไว้ ๕ ประการคือ
๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม
๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม
๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม
๔. บรรลุในขณะที่พิจารณาธรรม
๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ
๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม หมายความคือการฟังธรรมนั้น ถ้าเราฟังอย่างตั้งใจจริงและส่งใจไปตามพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดงและใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาสาระที่ท่านแสดงให้ดี ก็สามารถที่จะได้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน คือในขณะที่เราส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาไม่เผลอในขณะนั้น เป็นสมาธิติดต่อกันตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิตามลำดับ ในขณะที่จิตใจเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิก็ตาม ในขณะนั้นนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ จิตใจของเราก็บริสุทธิ์ผ่องใสเกิดความปีติ ความอิ่มใจดีใจความตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นเหตุใหจิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบก็เป็นเหตุให้เกิดความสุข เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอุเบกขาความวางเฉยในรูปนาม หลังจากนั้นสมาธิก็จะก่อตัวขึ้นตามลำดับ เป็นสมาธิที่หนักแน่นเรียกว่า สมาหิโต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว ก็ปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ เมื่อปราศจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการแล้ว ปริสุทโธ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็จะเกิดปัญญา มีสติปัญญาในการพิจารณาเนื้อหาที่ท่านแสดงเรียกว่า กัมมนิโยคือจิตควรแก่การงาน ไตร่ตรองจนเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้ว จิตก็จะคลายกำหนัด เมื่อขาดความกำหนัดยินดี ก็หลุดพ้น หมดจดสะอาดและผ่องใส ได้บรรลุมรรคผล พระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่าบรรลุในขณะที่ฟังธรรม
๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม คือเราเองเป็นผู้แสดงธรรม ก็สามารถเป็นผู้บรรลุสามัญญผลได้เหมือนกัน หมายความว่าเราตั้งใจแสดงธรรมจริงๆและหวังให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่ผู้ฟังจริงๆ ในขณะที่เราแสดงธรรมนั้นเราก็ส่งจิตไปตามกระแสธรรมเทศนาที่เราเป็นผู้แสดงเอง จะเห็นว่าแม้แต่ผลอย่างน้อยๆก็เกิดให้เราเห็นอยู่ทุกขณะ หลายคนที่เคยแสดงธรรมมาแล้วก็คงจะรู้ บางทีเราเทศน์ไปๆ เกิดปีติขนลุกชูชันขึ้นมาก็มี บางทีก็เยือกเย็นไปทั่วร่างกาย บางทีก็ทำให้กายเบาขึ้นมา บางทีก็เกิดน้ำตาไหล อันนี้เรียกว่าเกิดปีติขึ้นมา ทั้งเราเองเป็นผู้แสดงก็เกิดด้วย เมื่อเกิดปีติแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันตามลำดับ จนถึงมรรคผลพระนิพพาน คือในขณะที่เราแสดงธรรมอยู่นั้น เราแสดงไปด้วยพิจารณาไปด้วย ส่งจิตไปตามเนื้อหาสาระที่เราแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติความเบิกบานใจ เมื่อปีติเกิดก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาก็จะพิจารณารูปนามสังขารทั้งหลายให้เห็นว่าตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไปเมื่อเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้แล้วก็จะเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในรูปในนาม ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่าย ก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตก็หลุดพ้นเมื่อหลุดพ้น จิตก็บริสุทธิ์ สะอาด สงบเย็น บรรลุถึงพระนิพพานนี้เรียกว่าบรรลุในขณะที่แสดงธรรม
๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม คือการสาธยายธรรม ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน เช่นที่เราทั้งหลายพากันไหว้พระทำวัตรเจริญพระพุทธมนต์อยู่ขณะนี้ เป็นภาษาบาลีบ้าง แปลเป็นภาษาไทยบ้าง ก็เป็นเหตุให้บรรลุสามัญญผลได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นการสาธยายธรรมตอนทำวัตรเช้า เราสวด พุทโธไปตามลำดับ ธรรมที่สวดมีความหมายเป็นอนัตตาดังนี้ เราสาธยายไปๆสวดไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาตามลำดับ บางคนในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ไม่มีโอกาสที่จะทำวัตรเช้ากับพระสงฆ์สามเณรที่เรียนปริยัติ พอดีหลังจากปิดการปฏิบัติก็มาทำวัตรรวมกัน เมื่อมาทำวัตรรวมกันเท่านั้น เมื่อทำมาถึง รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจานี้ ทำไม่ได้เลย เกิดปีติตื้นตันใจ มีแต่น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา หรือบางทีเวลาออกมาจากปฏิบัติกรรมฐานใหม่ มาเห็นญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้าสวดทำวัตรเช้า ก็สวด พุทโธ สุสุทโธ ไป พอถึง รูปัง อนิจจัง เท่านั้น ฉันภัตตาหารไม่ได้ หรือบางทีขึ้นบทต้นว่า พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ เท่านั้นแหละ ตื้นตันใจ ฉันภัตตหารไม่ได้ มีแต่น้ำตาไหลอยู่ นี้แหละท่านทั้งหลาย การที่สาธยายธรรมนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน คือเมื่อเราสาธยายธรรมไปๆ หรือว่าสวดมนต์ไป เจริญพระพุทธมนต์ไป เราสวดเราสาธยายด้วยใจด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปาก เมื่อใดที่เราสาธยายธรรมด้วยใจ ด้วยสติปัญญาไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติ ความปราโมทย์อิ่มใจเบิกบานใจ ตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิที่เรียกว่า สมาหิโต คือมีสมาธิก่อตัวหนักแน่นขึ้น เมื่อสมาธิก่อตัวหนักแน่นเป็นอธิจิตตสิกขาแล้ว หลังจากนั้นจิตใจก็จะสงบระงับจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ เมื่อนิวรณ์ธรรมสงบลงไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจก็เป็นอิสระ เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความคล่องแคล่วว่องไวไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม เรียกว่า กัมมนิโย จิตว่องไวในการพิจารณา เมื่อจิตมีความว่องไวไหวพริบในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมแล้ว ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงรู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรม เมื่อรู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรมแล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็เป็นเหตุให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจิตใจก็เป็นวิสุทธิ สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตสะอาดหมดจด ก็เป็นปัจจัยให้ถึงสันติ ความสงบ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุขณะที่กำลังสาธยายธรรม
๔. บรรลุขณะที่ตริตรองพิจารณาธรรม ซึ่งเรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายความว่าเราทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้วก็น้อมนำเอาธรรมนั้นไปพิจารณาไตร่ตรองดูว่าธรรมที่ท่านกล่าวมานั้นจริงหรือไม่ท่านกล่าวว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นจริงหรือไม่ ท่านบอกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก็อยู่ที่ร่างกายนี้การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ร่างกายนี้เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ เราก็พิจารณาไปๆ ตามลำดับ เมื่อไตร่ตรองพิจารณาค้นคว้าธรรมที่ได้ฟังมา ก็เป็นเหตุให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น ทำให้เกิดปีติความอิ่มใจดีใจเบิกบานใจเกิดความปราโมทย์ ความตื้นตันใจว่าเป็นจริงตามที่ครูอาจารย์ท่านเทศน์จริงๆ รูปนามขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในนี้จริงๆ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อยู่ในนี้จริง เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิที่เรียกว่า สมาหิโต จิตก่อตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรม ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เมื่อสมาธิตั้งมั่นหนักแน่นแล้ว จิตก็เป็นอิสระ ทำให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมตามที่เราได้ยินได้ฟังมา เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม จนรู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่าธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดี ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามความต้องการ เช่นสมมติว่า เราจะบังคับร่างกายนี้ อย่าได้เหี่ยวย่น ขอจงมีความสุขความสบายอยู่อย่างนี้ตลอดไปก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนา รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาจริงๆ เราพิจารณาไปถึงบรรดาสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง เราก็จะเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขังทนไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เมื่อเห็นรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังเป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ด้วยปัญญาเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยอำนาจอุปาทานใดๆ เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้ว ก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากรูปนาม จากสังขารทั้งหลายทั้งปวงเมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็เป็นวิสุทธิถึงความบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ถึงสันติคือพระนิพพาน จิตใจก็จะสงบด้วยอำนาจอริยมรรคบ้างด้วยอำนาจอริยผลบ้าง ก็เป็นอันว่าถ้าบรรลุด้วยวิธีนี้ เรียกว่าบรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม ผู้บรรลุโดยวิธีนี้ในครั้งพุทธกาลมีมาก
๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ หมายความว่า ได้แก่การที่เราทั้งหลายตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน เหมือนดังท่านทั้งหลายที่เจริญอยู่นี้แหละ เราเจริญพระกรรมฐานอยู่นี้ ด้วยการเดินจงกรมด้วยการนั่งสมาธิอันนี้เราฝึกให้จิตใจของเรามีสมาธิ ฝึกให้ใจตั้งมั่น ฝึกสติสัมปชัญญะให้มีกำลัง เมื่อใดจิตใจมีกำลังมีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ สมาธิก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สามารถแทงตลอดอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมทั้ง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ด้วยอำนาจของสมาธิด้วยกำลังของสมาธิคือสมาธิเป็นพื้นฐาน นี่แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นอันสรุปได้ว่าการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล หรือว่าการที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ บรรลุได้ด้วยลักษณะ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือได้บรรลุในขณะที่ฟังธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่แสดงธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่สาธยายธรรมบ้าง บรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมบ้าง บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิบ้าง อันนี้ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร
"หนทางแห่งพุทธะ คือทางสายกลางอันเบิกบาน ให้อยุ่กับคืนวันและปัจจุบันอย่างตื่นรู้"
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)