วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คำสอน พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง


1.ระวังลมหายใจ




การรวบรวมกำลังใจที่เขาสามารถทรงอารมณ์กันได้เขาทำกันยังไง
โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง
-  ศีล เบื้องต้นเราต้องชนะกิเลสหยาบด้วยกำลังทรงศีลบริสุทธิ์ คนที่มีศีลบริสุทธิ์แสดงว่าชนะกิเลสหยาบได้แล้ว การที่มีศีลบริสุทธิ์ต้องมีอารมณ์เข้มแข็ง ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยาก อยากจะทำผิดศีลห้าประการ. ถือว่าความดีเพียงเท่านี้ เราจะทรงไว้หากตัวมันจะตายก็ช่างมัน ถ้าเราตายเพราะการทรงความดีคือศีลบริสุทธิ์ อย่างเลวที่สุดเราก็ไปสวรรค์. ถ้าเรามีจิตใจชนะความอยากในการทำลายศีลได้ ก็ชื่อว่าภาคพื้นศีลของเราดี เป็นผู้ชนะกิเลสหยาบ
-  สมาธิ สำหรับด้านสมาธิถ้าเราทรงไว้ได้ก้ชื่อว่าชนะกิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างกลางจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งนิวรณ์ห้าประการไว้เป็นเครื่องค้ำจุน วัดกำลังใจ สำหรับสมาธิจิตอันดับต้น ต้องฝึกจิตให้ชนะนิวรณ์ห้าประการ ถ้าเราแพ้นิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งห้าประการ ก็ได้ชื่อว่าเราเป็นผู้แพ้ การเจริญสมาธิไม่มีผล ถ้าหากว่าเราป้องกันนิวรณ์ห้าประการไม่เกิดขึ้นกับใจได้ ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ชนะ 
นี้สำหรับนิวรณ์ห้าประการมีความสำคัญอยู่ข้อเดียวคือ อารมณ์ฟุ้งซ่าน ถ้าเราสามารถระงับข้อนี้ได้ก็ชื่อว่าเราชนะหมด ให้ใช้ “อานาปาณสติกรรมฐาน” เข้าควบคุม 

ถ้าจิตของเราไม่ฟุ้งซ่านเราประพฤติปฏิบัติอะไรกันบ้าง ถ้าเราจะเจริญพุทธานุสติกรรมฐานภาวนาว่า พุทโธ ถ้าจิตของเราไม่ฟุ้งซ่านจิตของเราก็จะอยู่ที่ พุทโธ เสมอ ถ้าจะมีการคุยกัน จะมีกิจการงานเกิดขึ้น จิตมันก็จะจับแค่กิจการงานและสิ่งที่พูดกัน แต่สิ่งที่พูดที่ปรารภกันต้องไม่เป็นเดรัจฉานคาถา (วาจาที่กล่าวออกไป ปรารภความรัก ปรารภความโลภ โกรธ หลง หรือวาจาเลว) วาจาที่เรากล่าวออกมามันต้องอาศัยจิตสั่ง ถ้าจิตไม่สั่งจิตไม่คิด วาจามันก็ไม่พูด กายมันก็ไม่ทำ ถ้าจิตดีแล้ว วาจาและกายก็จะดี ...

วิธีที่เราจะป้องกันจิตไม่ให้ตกลงมาหาความชั่วอย่างหยาบหรือว่าความชั่วอย่างกลางสิ่งที่กั้นก็คือ “อานาปาณสติกรรมฐาน” ฝึกให้มันทรงตัว หายใจเข้าก็รู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจยาวหรือสั้นก็รู้อยู่นี้อย่างหนึ่ง ถ้าเราจะฝึกอย่างหนักเบาเราไม่ชอบใจ จะควบอารมณ์ สุกขวิปัสสโก, เตวิชโช ฉฬภิญโญ, ปฏิสัมภิทัปปัตโต ก็ใช้รู้ลมหายใจเขาออก แต่ตั้งฐานอาการรู้สัมผัสของลมไว้สามฐาน คือเวลาหายใจเข้าลมกระทบจากจมูกเข้าไปกระทบอก จากอกกระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย เวลาลมหายใจออกก็จะกระทบกลับกันขึ้นไป มันจะมีความรู้สึกตามนี้ ให้เลือกใช้ตามอัธยาศัย ถ้าใช้แบบสามฐานรู้ลมกระทบที่จมูกเสียก่อน หายใจเข้าออกมันจะมีการสัมผัสที่จมูก ถ้ารู้แค่นี้แสดงว่าจิตทรงอยู่ในขนิกสมธิ เป็นสมาธิเล็กน้อย ถ้ารู้ลมกระทบอกข้างในด้วยอันนี้จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้ากระทบทั้งสามฐานทั้งเข้าและออก แสดงว่าจิตอยู่ในขั้นปฐมฌาน

ถ้าจิตเราชนะอารมณ์ฟุ้งซ่าน สามารถรู้ลมหายใจเข้าออกได้ตามปกติจนมีอาการชิน แสดงว่าจิตของผู้นั้นเป็นผู้ทรงฌานตลอดเวลา หากว่าเราจะใช้คำพิจารณาและภาวนา อารมณ์มันจะติดคือให้มันติดอยู่ในคำภาวนา อย่างภาวนาว่า พุทโธ รู้ทั้งลมหายใจเข้าออก รู้ทั้งคำภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกเรียกว่าโธ เอาให้มันชนะตรงนี้ จิตให้มันทรงอยู่ตรงนี้ เรื่องความฟุ้งซ่านของจิตที่จะคิดเป็นอย่างอื่นมันก็มีบ้างเป็นของธรรมดา แต่ถ้าว่าเมื่อรู้ตัวก็มาจับให้มันทรงอยู่ หายใจเข้ารู้พุท หายใจออกเรารู้โธอยู่เสมอ ให้จิตมันชิน เมื่อจิตมันชินจริงๆท่านทั้งหลายจะมีความรู้สึกว่าอารมณ์นี่มันว่างไม่ได้ อารมณ์มันว่างแล้วมันจะหันมาจับกับลมหายใจเข้าออกว่าพุทโธทันที ทำให้มันชินอย่างนี้และเราไม่ต้องไปมองว่านิวรณ์ห้าประการมันมีอะไรบ้าง ถ้าจิตมันทรงอยู่อย่างนี้แสดงว่าจิตเราไม่มีความฟุ้งซ่านแล้ว จิตก็จะอยู่ในด้านของกุศล เรื่องที่เราจะทำผิดศีลก็จะไม่มี 

ถ้าจิตมันตั้งอยู่แบบนี้การพูดก็จะน้อยลง จิตจะตั้งตรงอยู่ของอารมณ์เป็นฌานคือรู้ลมหายใจรู้คำภาวนา ถ้ามีกิจอื่นที่จะต้องทำจิตก็จะจับอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้น ไม่ว่าคราวใดที่เราจะพูดมันจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะไม่พูดไม่ทำนอกเหนือจากจริยาที่ควรประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า “ฌานโลกี”  เพราะผู้ทรงฌานจริงๆจิตมันมัดอารมณ์ จิตมันมีสติสัมปชัญญะ มันจะดึงอารมณ์เฉพาะที่เราต้องการเท่านั้นเข้าไว้ ถ้าขณะใดอารมณ์เฝือไปเพียงนิดเดียว จิตจะมีความรู้สึกว่าไม่สบาย กระสับกระส่าย จิตมันวุ่นวาย เพราะฉนั้นผู้ทรงฌานจึงไม่ยอมให้ความวุ่นวายของจิตเกิดขึ้น

ฉนั้นการประพฤติปฏิบัติในการเจริญพระกรรมฐาน ขอให้ทุกท่านตั้งมั่นอยู่ในเรื่องของศีลซึ่งมีความสำคัญมาก คือศีลต้องบริสุทธิ์อยู่เสมอ รู้อาการและจังหวะการทรงศีล เราเรียกว่า "ศีลานุสติกรรมฐาน" ถ้ารู้คำภาวนาว่าพุทโธ เราเรียกว่า "พุทธานุสติกรรมฐาน" รู้ลมหายใจเข้าออกเราเรียกว่า "อานาปาณสติกรรมฐาน" ถ้าหากว่าสมาธิจิตขิงเราดี มีอารมณ์ชิน กิเลสมันก็เข้าไม่ได้ จิตใจมันก็มีความสุข อารมณ์ก็ทรงตั้งมั่นความชั่วมันหลั่งไหลเข้ามาไม่ได้เพราะมีกำแพงใหญ่คือ "ฌาน" ตั้งเข้าไว้ พอจิตเป็นสมาธิปัญญามันก็เกิดเอง ถ้าปัญญาเกิดด้วยอำนาจของสมาธิ จิตมันเป็นสุข สามารถห้ำหั่นิกเลสให้เป็นสมุทเฉทประหารได้ 

ถ้าจิตตั้งมั่นไม่รำคานในสิ่งที่เข้ามารบกวน แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน แต่ภาวนาไปๆมีใจเบิกบาน ตัดคำภาวนาไปเฉยๆอย่างนี้เรียกเป็นฌานที่สอง ถ้าทำไปปรากฏว่าลมหายใจหายไป แต่ความจริงมันยังหายใจ จิตแยกออกจากประสาท ไม่มีความรู้สึกว่าหายใจอย่างนี้เป็นอาการของฌานที่สี่ จัดเป็นกำลังใจที่สุงสุดในทางพระพุทธศาสนา

2.อารมณ์พระโสดาบัน

อารมณ์พระโสดาบัน             อารมณ์พระโสดาบัน             ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับคืนนี้ก็มาเริ่มปฏิบัติเนื่องในโสดาปัตติผล หรือว่า ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค การเจริญพระกรรมฐานนี่ พระพุทธเจ้ามีความต้องการให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านเข้าถึงพระอริยมรรค พระอริยผล ถ้าเราจะปฏิบัติกันอย่างเลื่อนลอยก็มีความสุขเหมือนกัน แต่มีความสุขไม่จริง ที่จะปฏิบัติให้มีความสุขจริงๆ ก็จะต้องมีจุดใดจุดหนึ่งเป็นเครื่องเข้าถึงจึงจะใช้ได้              ในอันดับแรกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการผลอันดับต้น คือได้พระโสดาปัตติมรรคหรือพระโสดาปัตติผล หรือการที่เราเรียกกันว่า พระโสดาบัน             ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะศึกษาอย่างอื่น ก็โปรดทราบว่า สำหรับพระโสดาบันนี้ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ คือ:-             ๑. สักกายทิฏฐิ ตัวนี้มีปัญญาเพียงเล็กน้อย เพียงแค่มีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายเท่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงความตายให้พ้นได้ และความตายนี้ จะปรากฏกับเราเมื่อไรก็ไม่แน่นอนนัก และเชื่อว่า ตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายกลางวัน อย่างนี้ไม่มีความแน่นอน             เพราะว่าความตายไม่มีนิมิต ความตายไม่มีเครื่องหมาย แต่ถึงอย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไปได้ นี่สำหรับข้อแรกสักกายทิฏฐิ ที่เห็นว่าร่างกายก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรานิยมเรียกกันว่า ร่างกาย             พระโสดาบันมีความรู้สึกว่ามีปัญญาเพียงเล็กน้อย รู้แค่ตายเท่านั้น ยังไม่สามารถจะจำแนกร่างกายว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราได้ ความรู้สึกของพระโสดาบัน ยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหลายยังเป็นเรา เป็นของเรา             แต่ทว่ามีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นของเรานี้ทั้งหมด เมื่อเราตายแล้วเราก็ไม่มีสิทธ์ที่จะเข้ามาครอบครอง หรือถ้าว่าเรายังไม่ตาย สักวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องสลายตัวไป เนื่องในข้อว่า สักกายทิฏฐิ พระโสดาบันคิดได้เพียงเท่านี้ ยังไม่สามารถจะแยกกาย ทิ้งไปได้ทันทีทันใด องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า พระโสดาบันมีปัญญาเล็กน้อย             ในข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสั่ง และคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า             คำว่า คำสั่ง ก็ได้แก่ ศีล             คำสอน ก็ได้แก่ จริยาอันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า ธรรมะ เป็นความประพฤติดีประพฤติชอบ             ศีล พระพุทธเจ้าสั่งให้ละ หมายความว่า ละตามสิกขาบทที่กำหนดให้ไว้ คำสอนทรงแนะนำว่า จงทำอย่างนี้จะมีความสุขอีกทั้งคำสั่งก็ดี ทั้งคำสอนก็ดี พระโสดาบันก็มีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือ เชื่อพระพุทธเจ้า ในการเชื่อก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อ             นี่สำหรับสังโยชน์ข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส เพราะอาศัยที่พระโสดาบันมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำบรรดาพระสงฆ์ว่า จงนำธรรมะนี้ไปสอน พระสงฆ์ก็ไปสอน พระโสดาบันใช้ปัญญาเพียงเล็กน้อยมีความเข้าใจดี ยินยอมรับนับถือคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสมา แล้วพระสงฆ์นำมาแสดง อาศัยที่ศรัทธาในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการนี้ พระโสดาบันจึงเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์             เป็นอันว่าพระโสดาบัน ถ้าเราจะไปพิจารณาจริงๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรสำคัญ มีสภาวะเหมือนชาวบ้านชั้นดีนั่นเอง ทีนี้เราจะกล่าวถึง องค์ของพระโสดาบัน ท่านที่เป็นพระโสดาบันจริงๆ นั้น มีอารมณ์ใจ              คำว่า " องค์ " นี่หมายความว่า อารมณ์ที่ฝังอยู่ในใจ อารมณ์ใจของพระโสดาบันจริงๆ ก็คือ             ๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า             ๒. มีความเคารพในพระธรรม             ๓. มีความเคารพในพระสงฆ์             ๔. มี ศีล ๕ บริสุทธ์             อันนี้ก็ตรงกับพระบาลี ที่องค์พระชินสีห์ตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นผู้มีอธิศีล              สำหรับกิเลสส่วนอื่นจะเห็นได้ว่า พระโสดาบันยังมีกิเลสทุกอย่าง ตามที่เรากล่าวกันคือ:-             โลภะ ความโลภ             ราคะ ความรัก             โทสะ ความโกรธ             โมหะ ความหลง             จะว่ารักก็รัก อยากรวยก็อยากรวย โกรธก็โกรธ หลงก็หลง แต่ไม่ลืมความตาย คำที่ว่าหลงก็เพราะว่า พระโสดาบันยังต้องการความร่ำรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังต้องการความสวยสดงดงาม ต้องการมีคู่ครอง             อย่าง นางวิสาขามหาอุบาสิกา ก็ดี ภรรยาของพรานกุกกุฏมิตร ก็ดี ทั้งสองท่านนี้เป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่อายุ ๗ ปี แต่ในที่สุด ท่านก็แต่งงานมีเครื่องประดับประดาสวยงาม เป็นอันว่ากิเลสที่เราต้องการกัน เนื่องจากการครองคู่ระหว่างเพศ พระโสดาบันยังมี และก็ยังมีครบถ้วน เพราะว่าอยู่ในขอบเขตของศีล             ไม่ทำ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดความรักของบุคคลอื่น ไม่ทำให้ผิดประเพณีหรือกฎหมายของบ้านเมือง และเป็นไปตามศีลทุกอย่าง คือรักอยู่ในคู่ผัวเมียตามปกติ             นี่ขอบเขตของพระโสดาบันมีเท่านี้ มีความต้องการรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังประกอบอาชีพ แต่ไม่คดไม่โกง ไม่ยื้อไม่แย่งใครเท่านั้น หามาได้แม้จะร่ำรวยแสนจะร่ำรวยก็ได้มาด้วยความบริสุทธ์ ไม่คดไม่โกงเขา พระโสดาบันยังมีความโกรธ ไอ้โกรธน่ะโกรธได้ แต่ว่าพระโสดาบันยังไม่ฆ่าใคร เกรงว่าศีลจะขาด             พระโสดาบันยังมีความหลง แต่หลงไม่เลยความตาย ยังมีความรู้สึกอยู่ว่าต้องการชีวิต ชีวิตของเรามีอยู่ ต้องการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ยังไงๆ เราก็ตายแน่ การที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้             เป็นอันว่าถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ความเป็นพระโสดาบันนี่รู้สึกว่าไม่ยากเลย สำหรับในวันนี้ก็จะขอแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัท ให้พยายามใคร่ครวญถึงความตายเป็นสำคัญ เรื่องความตายนี่ก็ดี การควบคุมอารมณ์จิตให้ปราศจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดถ้าเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ให้ระงับจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ให้ระงับจากความฟุ้งซ่านก็ดี วันใดถ้าเราเผลอไปลืมนึกถึงความตายก็ดี ก็จงประณามตนเองว่าเรานี้เลวเต็มทีแล้ว             เพราะว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอนตามความเป็นจริงทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านทั้งหลายจะพิจารณาเห็นได้ว่า คนและสัตว์ทุกอย่าง ทั้งคนและสัตว์ที่เกิดมาตายให้เราดูเป็นตัวอย่างและในเรื่องความตายนี้ไม่จำเป็นต้องศึกษาละเอียด เห็นกันอยู่แล้วทุกคน เพราะว่าคนส่วนใหญ่ลืมคิดไปว่าตัวเองจะตาย เคยไปในงานศพชาวบ้าน แต่ไม่ได้เคยคิดว่าเราจะเป็นศพอย่างชาวบ้านที่เขาตายกัน             นี่เราประมาทกันอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้แนะนำว่า "จงนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ อย่าประมาทในชีวิต คิดว่าเราจะไม่ตาย"              นี่เป็นความคิดผิด เรื่องนึกถึงความตายเป็นอารมณ์นี่เป็นความดี เป็นปัจจัยสำคัญให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบันได้ง่าย จะยกตัวอย่างบุคคลที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระจอมไตร แล้วก็มีความเคารพในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจอมไตรหรือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน นั่นก็คือเปสการีธิดา เปสการีธิดานี่เคยอยู่เมืองอาฬวี             วันหนึ่ง องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงเสด็จประทับสำราญอิริยาบถ อยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร ในตอนเช้าองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเสด็จไปแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครติดตาม เข้าสู่เขตเมืองอาฬวี องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือตอไม้เป็นธรรมาสน์ที่ประทับ ประทับยับยั้งอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านได้ฟังข่าวเข้าก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า นำภัตตาหารมาถวาย ขณะนั้นเปสการีธิดาคือลูกสาวนายช่างหูก (เปสการี แปลว่า ช่างหูก ธิดา แปลว่า ลูกสาว) ทราบข่าวก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับเขาเหมือนกัน เมื่อเข้าไปแล้วถวายอาหารแก่องค์สมเด็จพระภควันต์เสร็จ             หลังจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเทศน์ ทรงเทศน์แบบสั้นๆ ว่า             " ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ว่าความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลากำหนดการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบแต่ความดีเข้าไว้…             ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วจะไปอบายภูมิมีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตายไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่าเราต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่า วันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตาย แล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ…"             และเมื่อองค์สมเด็จพระนราสภพูดเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนี ก็เสด็จกลับ เมื่อพระพุทธเจ้าไปแล้ว เทศน์ที่พระพุทธเจ้าสอนก็ตามพระพุทธเจ้าไปด้วย คือไม่ตามชาวบ้านไปที่บ้าน ตามพระพุทธเจ้ากลับวิหาร คือชาวบ้านไม่สนใจ             ทว่าสาวน้อยกลอยใจหรือเปสการีธิดา เธอสนใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ ทุกวันทุกคืน เธอนึกถึงวงหน้าขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ว่ามีดวงหน้าสวยงามคล้ายดวงจันทร์ และพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระภควันต์ก็แจ่มใสไพเราะ ลีลาแห่งการแสดงพระธรรมเทศนาก็น่าฟังเป็นที่ชื่นใจ เธอจำไว้ได้เสมอว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา             พระองค์ทรงสอนว่า… ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงคิดแต่สร้างความดีไว้เสมอ…             แล้วเธอก็ทำความดีทุกอย่าง ตามที่บิดามารดาและองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ การแนะนำในคราวนั้น ก็มีศีลห้าเป็นสำคัญ             เธอนึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวัน จัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน แบบที่เราภาวนาว่า พุทโธ             เธอนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จัดเป็น มรณานุสสติกรรมฐาน             เธอไม่ประมาทในการประกอบกรรมทำกุศล สร้างสิ่งที่เป็นมงคลไว้ตลอดชีวิต ที่ว่ามีสิทธ์เข้าถึงธรรม ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออารมณ์จิตของเธอดีอย่างนี้ มีอารมณ์ผ่องใส วันทั้งวันนึกถึงความตาย แต่ก็ไม่เศร้าหมอง คิดว่าเวลานี้แม่ของเราก็ตายไปแล้วเหลือแต่พ่อ สักวันหนึ่งพ่อก็ดี เราก็ดีจะต้องตาย             แต่ก่อนที่เราจะตาย เราเป็นคนก็ควรจะเป็นคนดี เวลาเป็นผีควรจะเป็นผีดี คือผีที่มีความสุข ไม่ใช่ผีในอบายภูมิ เธอคิดอย่างนี้จนเป็นเอกัคคตารมณ์             ทุกวันนึกถึงความตาย ทุกวันนึกถึงวงพักตร์ขององค์สมเด็จพระจอมไตร ทุกวันคิดถึงพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ขึ้นใจจับใจจนเป็นเอกัคคตารมณ์             เวลานั้นวันที่พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก เธอมีอายุได้ ๑๖ ปี ต่อมาเมื่อเธออายุย่างเข้า ๑๙ ปี องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรวจอุปนิสัยของสัตว์ในเวลาเช้ามืด เห็นนางตกในข่ายของญาณ ก็ตกใจว่านี่เรื่องอะไร ก็ทรงทราบด้วยอำนาจของญาณว่า             ในสายวันนี้ กุลสตรีคนนี้ก็จะถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้พิจารณาว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอมีคติไม่แน่นอน             คำว่า " คติ " แปลว่า การไป             แน่นอนหรือไม่แน่นอน ก็หมายความว่า ถ้าแน่นอนก็ไม่ไปทุคติ ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องเกิดเป็นคน หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม ไปนิพพานอย่างนี้ ชื่อว่ามีคติแน่นอน             องค์สมเด็จพระชินวรจึงมาคิดว่า ถ้าเราจะช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม ก็ทรงทราบว่าถ้าทรงช่วยจะมีคติแน่นอน และพิจารณาต่อไปว่าช่วยเธอยังไงจึงจะมีคติที่แน่นอน             องค์สมเด็จพระชินวรก็ทรงทราบว่าถ้าเราถามปัญหาเธอ ๔ ข้อ เธอตอบเราให้สาธุการรับรอง พอจบคาถา ๔ ข้อ เธอก็จะได้บรรลุพระโสดาบัน การตายคราวนั้นของเธอก็จะไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นที่อยู่อันบรมสุข             ฉะนั้นในตอนเช้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ชวนใคร ไปองค์เดียวไปนั่งอยู่ในที่เดิม หลังจากนั้นแล้วคนมาเฝ้า (ขอเล่าลัดๆ) ลูกสาวของนายช่างทำหูกทำงานเสร็จ ตัดสินใจมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงมองดูหน้าเธอ เมื่อสบตากัน เธอก็ทราบว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ต้องการให้เข้าไปใกล้ เธอเข้าไปแล้ว             องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ถามปัญหา ๔ ข้อว่า             " เธอมาจากไหน…? "             เธอตอบว่า " ไม่ทราบพระเจ้าข้า"             พระองค์ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?"             เธอตอบว่า "ทราบพระเจ้าข้า"             พระองค์ทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?"             เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบพระเจ้าข้า"             ปัญหา ๔ ข้อนี้ คือ:-             ข้อที่หนึ่ง ทรงถามว่า "เธอมาจากไหน…?" เธอตอบว่า "อาศัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรถามว่า เมื่อก่อนจะเกิดมาแต่ไหน เธอไม่ทราบ"             ข้อที่สอง ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?" เธอตอบว่า "ตายแล้วไปไหน หม่อมฉันไม่ทราบ"             ข้อที่สาม ท่านถามว่า "ไม่ทราบหรือ…?" เธอตอบว่า "ทราบว่ายังไงๆ ก็ตายแน่ พระเจ้าข้า"             ข้อที่สี่ แล้วองค์พระพุทธเจ้าทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?" เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบ ก็เพราะว่าจะตาย เวลาเช้า เวลาสาย เวลาบ่าย เวลาเที่ยง ก็ไม่ทราบพระเจ้าข้า และไม่ทราบอาการตาย ยังไงๆ ก็ตายแน่"             พระพุทธเจ้าก็รับรองด้วยสาธุการ จึงถามเพียงเท่านี้ ความมั่นใจของเธอทำให้เธอเป็นพระโสดาบัน แต่ความจริงในตอนต้นนั้น เธอเข้าถึงพระโสดาปัตติมรรคอยู่แล้ว คือหนึ่งนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต ในข้อว่า สักกายทิฏฐิ เธอเข้าถึงแล้วในเบื้องต้น             ข้อที่ ๒ เธอนึกถึงองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทุกวัน จัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน             ข้อที่ ๓ นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระชินวรทรงสอนไว้เสมอว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เธอทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต             ข้อที่ ๔ ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร มีศีล ๕ เป็นต้น ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนไว้ เธอจำได้ทุกอย่าง และปฏิบัติทุกอย่าง อย่างนี้ถ้าจะกล่าวกันไป ก็ชื่อว่าเธอเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว แต่ว่าอารมณ์จิตยังไม่มั่นคง             ต่อมา เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จมาสนับสนุนอีกวาระหนึ่ง เธอมีความมั่นคงในความรู้สึก จิตมีความมั่นในคุณพระรัตนตรัย มั่นในความตาย คิดว่าเมื่อไหร่ก็เชิญ มันตายแน่ มั่นในศีลที่เธอรักษา แล้วก็มีศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในพระธรรมคำสั่งสอน              อย่างนี้แหละบรรดาท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระชินวรกล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน             เป็นอันว่าท่านพุทธบริษัททุกท่าน กาลเวลาที่เราจะแนะนำกันวันนี้ ก็รู้สึกว่าจะหมดเวลาเสียแล้ว เท่าที่พูดมาแล้วนี้ทั้งหมด เป็นปฏิปทาที่เราจะปฏิบัติให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ท่านทั้งหลายมีความรู้สึกว่ายากไหม ถ้ายากก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำไป             ดูตัวอย่าง เปสการีธิดา เป็นตัวอย่าง ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร ท่านจึงกล่าวว่าเธอเป็นพระโสดาบัน ย้อนหลังไปนิด เธอนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต แล้วกาลต่อไปเธอนึกถึงวงพักตร์ของพระจอมไตรบรมศาสดา คือ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นธรรมดา เป็นเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ทรงตัว             แล้วเธอก็ปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มีปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดเป็นต้น อย่างนี้องค์สมเด็จพระทศพลยอมรับนับถือว่าเธอเป็นพระโสดาบัน เข้าใจว่าท่านทั้งหลายผู้รับฟังคำสอนคงจะเห็นว่า คำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรในตอนนี้เป็นของไม่หนัก แล้วก็เป็นของไม่ยากสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัท             สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพยายามทรงอารมณ์ให้เป็นสมาธิ จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนอนก็ได้ ให้จิตใจทรงอารมณ์ตามคำสั่งและคำสอน ที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นจนอวสาน ชอบใจตรงไหนทำตรงนั้นให้ทรงตัวและผลที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้ นั่นก็คือ ความเป็นพระโสดาบัน              และต่อจากนี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พยายามทรงอารมณ์และตั้งไว้ในความดีตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ท่านจะได้พึงปรารถนา สวัสดี

3.วิธีทรงอารมณ์ฌานให้ได้เร็วๆ

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อริยมรรคมีองค์แปด


อริยมรรคมีองค์แปด 

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ นี้เอง

องค์แปดคือ
ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ, การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ, ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ

1. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์, ความรู้ในเหตุให้ เกิดทุกข์, ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ความรู้ใน หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด
นี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

2. ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม, ความดำริในการไม่พยาบาท, ความดำริในการไม่เบียดเบียน
นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

3. ภิกษุทั้งหลาย ! การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ, การเว้น จากการพูดยุให้แตกกัน, การเว้นจากการพูดหยาบ, การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา

4. ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์, การเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้, การเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ.

5. ภิกษุทั้งหลาย ! การเลี้ยงชีพชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จ ความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ 
นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ

6. ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อม พยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อม ตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอัน เป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อม พยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อม ตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยัง ไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อม ปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อ ความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรม ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ

7. ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็น กายในกายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความ ไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึก ตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจใน โลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำ ความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้
นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ

8. ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่; เพราะวิตกวิจารรำ งับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็น เครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่; เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มี การอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่; เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัส ในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่
นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทาง เป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

ที่มา: หนังสือพุทธวจน หมวดธรรม เปิดรรมที่ถูกปิด "ตามรอยธรรม"

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของวันโกนวันพระ

หัวข้อนี้อยากจะเล่าถึงเรื่อง วันโกน วันพระ นั้นมีความสำคัญอย่างไร...  โดยบทความรู้นี้ต้องขอบคุณพี่กันต์ กวินต์ เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ค่ะ ทุกตัวอักษรพิมพ์อย่างตั้งใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจค่ะ 

"วันโกน"คือวันก่อน"วันพระ"หนึ่งวัน ตามปฏิทินจันทรคติมีความเชื่อทางพุทธศานาว่าเป็นวันสำคัญทางพระพิธีการต่างๆ เช่นการปลงผมก็ดี การสวดปาฏิโมกข์เพื่อชำระศีลก็ดี รวมถึงการประกอบพิธีทำบุญใหญ่ๆ เราก็จะเลือกทำในวันนี้ ซึ่งเป็นปกติของชาวพุทธเราที่จะไปทำบุญตักบาตร..



ย้อนไปอดีตคนสมัยก่อนเขานิยมหยุดงานกันในวันพระหรือวันโกน ถือเป็นวันหยุดพักผ่อนทางราชการและชาวบ้านทั่วไป แต่ในสมัยต่อมาอิทธิพลชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลกับคนไทย จำให้ราชการเปลี่ยนวันหยุดมาเป็นเสาร์อาทิตย์แทน

แต่ในทางโลกทิพย์นั้นวันนี้สำคัญอย่างไร? 

ประการแรก ทางนรกโลก ผู้ที่ตัดสินโทษและลงฑัณฑ์จะหยุดการทรมานสัตว์นรกชั่วคราวในช่วงเวลาวันโกนวันพระนี้ และหยุดการชำระความคดีต่างๆ และเปิดประตูโลกวิญญาณให้ญาติของเราผู้เสียชีวิตไปแล้วสามารถขึ้นมาขอรับบุญจากญาติในโลกมนุษย์ได้ หากดวงจิตใดไม่สวามารถขึ้นมารับได้อาจเพราะอยู่ในขุมนรกที่ลึกเกินไป เราก็สามารถอุทิศบุญกุศลให้เขาโดยฝากผ่านเทพเทวดา พระแม่ธรณีช่วยนำส่งผลบุญนั้นไปถึงญาติเรา เขาเหล่านั้นก็สามารถที่จะรับและเสวยบุญนั้นได้เลยทันที ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่สามารถสัมผัสได้ทางกายหยาบบางครั้งอาจมีอาการปวดเนื้อปวดตัว มึนหัว เกิดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยบ้างจามอาการของญาติที่เสียไป หรือบ้างก็ฝันเห็น หรือบางทีก็สามารถสัมผัสได้ทางจิตเลยว่า ท่านเหล่านั้นมารอรับบุญจากเรา 

ดังนั้นจึงถือเหป็นโอกาสดีที่เราจะรีบสร้างกุศล ตักบาตร สวดมนต์ ไหว้พระและทำสมาธิ แล้วอุทิศแผ่ส่วนกุศลผลบุญ ก็จะส่งถึงเขาเหล่านั้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงวาระ

ประการสอง ทางเทวโลกหรือสวรรค์ จะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดลงมาแสดงธรรมเทศนาแก่เหล่าเทพ  พรหม เทวดา ทั้งหลาย ซึ่งเทพหรหมเทวดาส่วนใหญ่ที่ถือศีลก็จะบำเพ็ญเพียรในวันนี้เป็นพิเศษ




บทกราบเทวดา

มีโอกาสได้ฟังพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเล่าถึงวันโกนวันพระและพี่ก็ได้ให้บทกราบเทวดาประจำตัวในวันโกนดังนี้

วางพานดอกบัวบนพื้นหรือหิ้งพระ จุดธูป 9 ดอกหรือไม่จุดก็ได้ อาราธนาศีล 5 แล้วกล่าวดังนี้

"ลูกกราบทูลเทวดาองค์ในของลูก เจ้าที่และรุขเทวดาที่ดูแลสถานที่นี้ เทพเทวาที่ปกปักษ์รักษาลูกเสมอมา (เอ่ยชื่อเทวดาเพิ่มได้ตามใจปรารถนา) โปรดรับสักการะจากลูกด้วยมวลบุพชาติเหล่านี้ รวมถึงพวงมาลามะลิปลายกุหลาบแดง บายศรี ปากชาม หมากพลูอันโอชะ ผลไม้ซึ่งมี ...(เอ่ยชื่อแต่ละชนิด) หากพระองค์ใดมีเจตนาจะเสด็จขึ้นชั้นเกศแก้วจุฬามณีวิมาน เพื่อฟังการแสดงธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในค่ำคืนนี้ โปรดนำถวายเครื่องสักการะเหล่านี้ให้เป็นเครื่องบรรณาการแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
หากพระองค์ใดไม่มีเจตนาจะเสด็จขึ้น ขอโปรดรับเครื่องสักการะเหล่านี้ ถวายเป็นเครื่องบรรณาการด้วยศรัทธาจากลูกด้วยเทอญ สาธุ"

พี่เล่าว่า การที่เราไหว้เทวดาประจำตัวหรือที่เรานับถือ ขอให้ท่านนำดอกไม้ธูปเทียนของเราไปไหว้สักการะแด่พระพุทธเจ้าเพื่อไปฟังธรรมเทศสนานั้น จะทำให้เทวดาท่านมีภูมิธรรมที่สูงขึ้น พูดง่ายๆก็คือแสงสว่างขึ้น กายใหญ่ขึ้นนั้นเองและท่านจะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลและคุ้มครองเรายิ่งขึ้น

ขออานิสสงส์ผลบุญนี้จงเกิดแก่ทั้ง พี่กันต์ กวินต์ ผู้ที่ให้ความรู้ พี่ติ๊ด สุมนัส ผู้ให้บทสวดไหว้เทวดาและครูบาอาจารย์เจ้าของบทสวดทุกท่านค่ะ สาธุ

(ที่กล่าวมานี้ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการรับฟัง)

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )


๐ คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )
๑. เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ
...ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา
...กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน
๓. หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง
๔. ทางแห่งความหลุดพ้น
...เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน
๕. แต่งใจ
...ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?
๖. กรรมลิขิต
...เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต
อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง
เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ
๗. นักบุญ
...การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น
๘. ละความตระหนี่มีสุข
...ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน
๙. อย่าเอาเปรียบเทวดา
...ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญและบาปแห่งหนึ่ง อันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย
๑๐. บุญบริสุทธิ์
...การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน
๑๑. สั่งสมบารมี
...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
๑๒. เมตตาบารมี
...การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มาก และทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน
๑๓. แผ่เมตตาจิต
...ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า
๑๔. อานิสงส์การแผ่เมตตา
...ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้
๑๕. ประโยชน์จากการฝึกจิต
...ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม
(คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )

๐ ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม
อภิเศรษฐ์ ธัชศิริธีรภัทร

ขออนุญาตพี่ อภิเศรษฐ์ ธัชศิริธีรภัทร นำมาเขียนลงในบล็อก เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ฝึกปฏิบัติอย่างข้าพเจ้าเอง 
สาธุ สาธุ สาธุ

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการเดินทาง : ฉบับกับคนรู้ใจ

เรื่องเล่าของนักธรณีวิทยาและนักดนตรี ฮ่าๆ คิดแล้วก็ตลกเรามาบรรจบกันได้อย่างไร อุ่ย! ผิดหัวข้อ... เรื่องเล่าของคนสองคนที่รักธรรมชาติและการท่องเที่ยว จนถึงตอนนี้มานับดูกันดีกว่าว่าเราไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้าง ปล.จริงๆกำลังรื้อรูปมาล้างติดผาบ้าน :P




1."เขาช้างเผือก" ทองผาภูมิ กาญจนบุรี
ทริปแรกของเราที่อยากแบกเป้เดินเขา จุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งสมัยก่อนที่เขาช้างเผือกยังไม่ดังไม่มีการโปรโมท เราได้รู้จักเขาที่นี่จากในบล็อกที่หนึ่ง เห็นครั้งแรกก็ประทับใจเลย ตั้งใจว่าจะไปที่นี่ให้ได้ แต่ด้วยที่ไม่เคยแปกเป้เที่ยวเองมาก่อน เปิดดูข้อมูลต้องติดต่อใคร เตรียมอะไรบ้างดูยุ่งยากและไม่มีประสบการณ์มาก่อน เลยตัดสินใจไปกับทัวร์เดินป่าของ Trekking Thai และก็ได้ไปสมใจ

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2014/10/blog-post_20.html





2. "ลำคลองงู" กาญจนบุรี
ทริป adventure ที่ลำคลองงู ที่นี้ถือว่าเป็น Unseen in Thailand แห่งหนึ่งของเราเอง สถานที่ที่มีชื่อของที่นี่คือ "ถ้ำเสาหิน" ที่เกิดจากหินงอกหินย้อยที่สุงที่สุดในประเทศไทย 62.5 เมตร สำหรับการเดินทางเข้าไปชม มีทั้งเดินป่า ว่ายน้ำ ปีนเขา กระโดดน้ำตก เรียกได้ว่าผจญภัยต่างๆนาๆ บริเวณถ้ำเสาหินจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงเดือน มีนาคมถึงเมษายนเท่านั้น

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่ http://amrobon.blogspot.com/2014/11/blog-post.html






3."ภูสอยดาว" อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุตรดิตถ์
ได้ยินคำว่า "ภูสอยดาว" ก็ทำให้จินตาการถึงภูเขาที่สูงเสียดดาว สามารถมองเห็นดาวได้ถนัดชัดเจน แต่พอมาสัมผัสจริงๆนั้นแตกต่างจากที่จินตนาการไว้มาก สวยงามในอีกแบบ เป็นทุ่งดอกไม้ในท่ามกลางสายฝนโปรยปรายและสายหมอกบนยอดเขาสูง ลมพัดเอื่อยเย็น และนอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่มีต้นเมเปิลแดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ให้ได้ชมกันอีกด้วย

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2014/11/blog-post_79.html




4."น้ำตกเปรโต๊ะลอซู" หรือปิ๊ตรุ๊โกร หัวใจแห่งอุ้มผาง ตาก
ตามหาหัวใจแห่งอุ้มผาง "เปรโต๊ะลอซู" หรือ "ปิ๊ตุ๊โกร" เคยได้ยินชื่อน้ำตกทีลอซูมานานแล้ว แต่เปรโต๊ะลอซู พึ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้ และเส้นทางก็ใช้เส้นเดียวกันแต่ทางจะไกลกว่าหน่อยเท่านั้น เป็นน้ำตกที่ไหนจากหน้าผาสูง สายน้ำไหนเป็นสายหลายสายและมาบรรจบกันเป็นรูปหัวใจ โดยพี่เล่าว่าจะสวยมากโดยเฉพาะหน้าฝน และที่นี่เป็นน้ำตกที่พบโดยบังเอิญจากการสำรวจยอดดอยมะม่วงสามหมื่นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อุ้มผาง

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2015/01/blog-post.html




5."ดอยหลวงเชียงดาว" เชียงใหม่
สามวันสองคืนบนดอยหลวง ป่าไม้พืชพรรณอุดมสมบูรณ์ อากาศหนาวจับใจ ดอกไม้ต้นไม้บานเต็มสองข้างทาง ฮ่อมเชียงดาวเต็มดอย มีดอกพญาเสือโคร่งขึ้นเป็นหย่อมๆ บนความสูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตื่นแต่เช้ามืดจากแคมป์เพื่อเดินขึ้นยอดกิ่วลมไปดูพระอาทิตย์ขึ้น มืดจนต้องใช้ไฟฉายนำทาง ตกเย็นเดินขึ้นยอดดอยหลวงเพื่อไปดูพระอาทิตย์ตก ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า อาบลมห่มฟ้า ห้องน้ำธรรมชาติ เป็นอีกทริปหนึ่งที่สวยและประทับใจมากๆ 

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2014/11/blog-post_20.html





6."เขาหลวง" คีรีวงศ์ นครศรีธรรมราช
ครั้งแรกกับการเดินป่าใต้ เราเริ่มเพิ่มระดับความยากของการเดินป่าขึ้นเรื่อยๆ ได้ยินคนพูดกันมากมายว่าป่าใต้นั้นเดินยาก ยากอย่างไรก็ไม่ทราบได้ ไม่มีคำจัดกัดความที่ชัดเจน จนกระทั่งช่วงกลางปีพี่ๆได้ชวนไปเดินเขาหลวงที่นครศรีธรรมราช ก็ตอบรับไปในทันที ทั้งที่ไม่มีข้อมูลอะไรทั้งสิ้น แต่สิ่งที่พูดกันมากคือ "ทากเยอะ" ตั้งแต่เดินป่ามายังไม่เคยโดนทากกัดเลยสักครั้ง เลยไม่ได้กลัวอะไรมาก แพ็คกระเป๋าได้ก็ออกเดินทางเลย โดยเราใช้เวลาในการเดินทางครั้งนี้ สามวันสองคืนเช่นเคย โดยการขึ้นเขาหลวงครั้งนี้ ขึ้นที่บ้านคีรีวงศ์ ไม่มีลูกหาบ เพราะเขาที่นี่ยังไม่ดังเท่าที่อื่นๆ ป่ายังดิบอยู่มาก ต้องอาศัยคนในพื้นที่ช่วยในการนำทาง 

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2015/01/blog-post_6.html




7."ทุ่งทานตะวัน" เขาจีนแล ลพบุรี
จังหวัดลพบุรี เป็นทุ่งทานตะวันที่ใหญ่มากที่หนึ่งในประเทศไทย มีพื้นที่กว้างใหญ่มากหลายไร่ ตั้งอยู่บริเวณเขาจีนแล ใกล้วัดเวฬุวัน ตำบลโคกตูม อำเภอเมืองและเป็นทุ่งทานตะวัน ที่ใกล้ตัว เมือง ลพบุรีมากประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น ด้านหลังสวยงามด้วยภูเขาเรียกว่า เขาจีนแล  ถือว่าเป็นทุ่งทานตะวันที่สวยที่สุดของจังหวัดลพบุรีเลยทีเดียว ซึ่งเทศกาลชมดอกทานตะวันจะมีทุกปี ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ที่นี่ไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด เพียงแค่ขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวช่วยกันไม่ทำลายดอกทานตะวันเท่านั้นเอง

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2015/01/blog-post_1.html



8."เกาะล้าน" พัทยา
เที่ยวเกาะใกล้กรุงเทพ "เกาะล้าน" ขับรถชั่วโมงครึ่งถึงพัทยา แล้วนั่งเรือข้ามไปเกาะล้านที่ท่าเรือแหลมมาลีฮาย เกาะที่นี่ไม่เหมือนเกาะท่องเที่ยวที่เจริญ ที่นี่สงบมากเหมือนหมู่บ้านหนึ่งในต่างจังหวัด มีตลาดนัดตอนกลางคืนหน้าวัด ของกินและที่พักราคาไม่แพงมาก คราวหน้าคงได้ไปเยือนอีก เก็บภาพได้นิดหน่อย เที่ยวอย่างเดียว 



9.เที่ยวโคราช ปากช่องถึงวังน้ำเขียว
ขับรถเที่ยวชิวๆหลายครั้ง ในหลายๆที่ตั้งแต่ปากช่อง เขาใหญ่ ถึงวังน้ำเขียว เก็บแต่ภาพคู่มาลงละกันเนอะ





10.เที่ยวเมืองตรัง
ไปเยือนเมืองตรังมา 2 ครั้ง สถานที่ท่องเที่ยวของเมืองตรังมีมากมายค่ะ โชคดีได้เจ้าบ้านเป็นไกค์พาเที่ยว (แฟนตูนี่แหละ) มีทั้งแบบขับรถยนต์และขับรถมอเตอร์ไซค์ตะเวณเที่ยวไปเรื่อยๆ แล้วแต่วันไหนขยัน ถ้าขี้เกียจก็ขับรถเล่นในเมืองซะส่วนใหญ่ เที่ยวทั้งเกาะต่างๆ ถ้ำมรกตที่มีชื่อเสียง ชายหาดมากมายให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนที่ไม่ติดทะเลก็มีน้ำตก ถ้ำ วัด มัสยิด ให้ได้เที่ยวชมเช่นกันค่ะ

ตรัง เมืองหน้ารักเที่ยวเกาะ ถ้ำและนำตก, หาดปากเมง, เกาะไหง, หาดเจ้าไหมและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, ถ้ำเลเขากอบ, น้ำตกโตนเต๊ะ, แหลมหยงสตาร์


อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2014/10/2.html






11. "แสมสาร" ดำน้ำดูปะการัง เกาะแสมสาร สัตหีบ
ดำน้ำดููปะการัง เกาะแสมสาร สัตหีบ สนุกสนาน โลกใต้น้ำยังสวยงามและประทับใจ ทั้งปลาการ์ตูน ปะการัง หลายภาพต้องอาศัยพี่มนุษย์กบดำลงไปถ่ายให้เพราะดำเองไม่ถึง 






12."ภูกระดึง" เที่ยวชมธรรมชาติบนภูกระดึง เลย
บนเส้นทางธรรมชาติภูกระดึง : เส้นทางบนหลังแปนี้ยาวไกลมาก เริ่มตั้งแต่ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ "ผานางแอ่น" ต่อด้วยตามหาใบเมเปิลแดงที่ "น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกเพ็ญพบ" และค่อยๆขึ้นเขาตามผาต่างๆจนสุดพระอาทิตย์ตกที่ "ผาหล่มสัก" ระยะทางกว่ายี่สิบกิโลเมตร...จริงๆแล้วถ้าจะเที่ยวให้ครบภายในวันเดียว ภูกระดึงก็ไม่ได้ชิวอย่างที่คิด 







13."ยอดหินกูบ" เขาสอยดาวใต้ จันทบุรี
อีกเช่นเคย เป็นทริปที่พี่ชวนไปอีกครั้ง โดยไม่ได้คิดตอบตกลงในทันที ยอดหินกูบ เขาสอยดาวใต้ จังหวัดจันทบุรี เป็นยอดเขาหินแกรนิตแข็งลักษณะเป็นชะง่อนผามีหลังคาคล้ายถ้ำเล็กๆ โดยเราเดินขึ้นเขาถึงยอด ครั้งนี้กางถุงนอนกันเป็นปลาทูใต้ชะง่อนผา ไม่มีเตนท์หรือเปลเหมือนเช่นเคย ตกเย็นลมแรงอากาศหนาวจับใจ

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่





14."อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า" พิษณุโลก
ขับรถเที่ยวป่าหน้าฝนขึ้นไปพิษณุโลกจนถึงที่ทำการอทยานภูหินร่องกล้า เดินบนเส้นทางธรรมชาติไปลานหินปุ่มเพื่อชมพระอาทิตย์ตก เช้าวันต่อมาขับรถไปที่หน่อวยน้ำตกหมันแดง แม้สายมากแล้วเมฆหมอกยังครึ้ม เดินลงเขาไปน้ำตกหมันแดง ตามหาเจ้าดอกลิ้นมังกรสีชมพู ที่เขาว่าออกดอกโชว์แค่ฤดูฝนเท่านั้น

อ่านเรื่องเที่ยวเต็มๆได้ที่นี่  http://amrobon.blogspot.com/2015/08/blog-post_6.html